
การศึกษา คือ กุญแจสำคัญที่ขับเคลื่อนความเจริญก้าวหน้าของประเทศ การบริหารและกำหนดนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาลในทุกยุคทุกสมัย ต่างให้ความสำคัญและมีความพยายามที่จะพัฒนาระบบการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลดช่องว่างและสร้างความเท่าเทียมด้านการศึกษา หนึ่งในนั้นแนวคิดในการพัฒนา "หนึ่งอำเภอ หนึ่งโรงเรียนในฝัน" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ODOS (One District One Scholarship) ปัจจุบันมีโรงเรียนเข้าร่วมทั้งหมด 2,366 แห่งในปี 2553 (สุรันต์ อินทะปัญโญ, 2562) มีเป้าหมายเพื่อสร้างโรงเรียนต้นแบบในทุกอำเภอของประเทศไทย โดยมุ่งเน้นพัฒนาการศึกษาที่ครอบคลุมทุกมิติ ตั้งแต่โรงเรียน ครู ผู้บริหาร นักเรียน และผู้ปกครอง เพื่อให้เกิดผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ตอบสนองความต้องการในยุคปัจจุบัน
บริษัท เจเนซิส มีเดียคอม จำกัด เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษา ด้วยประสบการณ์ยาวนานกว่า 29 ปี บริษัทฯ มีความเชี่ยวชาญหลายด้าน ครอบคลุมการผลิตสื่อการเรียนการสอน เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เนื้อหาและสื่อการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัย – มัธยมศึกษา มากกว่า 50,000 รายการ การพัฒนาแพลตฟอร์ม ระบบสนับสนุน และโซลูชันเพื่อการศึกษา การพัฒนาเทคโนโลยีการศึกษา (EdTech) ทั้งในรูปแบบของซอฟต์แวร์ เช่น ระบบการเรียนออนไลน์ และการบริหารจัดการการเรียนการสอน ฮาร์ดแวร์สำหรับภาคการศึกษา เช่น ระบบอัจฉริยะ จอภาพระบบสัมผัสขนาดใหญ่ อุปกรณ์ IoT ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอน ไปจนถึงการปรับปรุง พัฒนาห้องเรียนสมัยใหม่ การพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทางการศึกษา จัดอบรมครูด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการสอนและการพัฒนาทักษะทางวิชาชีพ การให้คำปรึกษากับผู้บริหารโรงเรียนในการวางแผนและพัฒนากลยุทธ์ด้านการศึกษา การสร้างเครือข่ายความร่วมมือ โดยทำงานกับภาครัฐและเอกชนเพื่อขยายผลลัพธ์และความสำเร็จของสถานศึกษา พร้อมทั้งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรมนุษย์ในระบบการศึกษาอย่างรอบด้าน
ความมุ่งมั่นในการพัฒนาการศึกษาและพัฒนาคน
ตลอดระยะเวลากว่า 29 ปี บริษัทฯ มีวิสัยทัศน์และให้ความสำคัญกับ การพัฒนาการศึกษาและการพัฒนาคน (Education & Human Assets) อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เกิดจนแก่ ครอบคลุมทั้ง การสร้างรากฐานองค์ความรู้ การเสริมทักษะและสมรรถนะ (Skill & Competency Development) ในทุกมิติ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา สร้างความเปลี่ยนแปลงในระบบการเรียนการสอน การพัฒนาทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 หรือการนำเทคโนโลยีมาเสริมศักยภาพให้กับบุคลากรทางการศึกษา เช่น ครู ผู้บริหารโรงเรียน ผู้ปกครอง และนักเรียน หนึ่งในพันธกิจสำคัญของบริษัทฯ คือ "การพัฒนาโรงเรียน" ที่มีคุณภาพระดับสากล โดยมีเป้าหมายในการสร้างสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ที่เหมาะสม มีความทันสมัย และตอบสนองความต้องการของทุกฝ่ายในระบบการศึกษา บริษัทฯ ได้พัฒนาและยกระดับห้องเรียนสมัยใหม่ โดยจัดหาเครื่องมือและทรัพยากรที่ช่วยสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ เนื้อหาวิชาการ สื่อการเรียนรู้ และเทคโนโลยี รวมถึงการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทางการศึกษา
บริษัท เจเนซิส มีเดียคอม จำกัด ได้นำองค์ความรู้และประสบการณ์จากการศึกษาและปฏิบัติ สรุปเป็นข้อเสนอที่สำคัญให้แก่สังคม เพื่อมุ่งให้เป้าหมายการพัฒนาการศึกษาและการพัฒนาคน ประสบความสำเร็จและมีความยั่งยืนอย่างแท้จริง
สถานการณ์ปัจจุบันและปัญหาในระบบการศึกษา: ทางแยกสำคัญของอนาคต
ระบบการศึกษาไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายหลายด้านที่สะท้อนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างและความเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน มีโรงเรียนจำนวนมากเผชิญกับปัญหาทรัพยากรที่จำกัด โครงสร้างพื้นฐานที่ล้าหลัง และการขาดครูที่เชี่ยวชาญในสาขาวิชาที่จำเป็น (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา, 2562) การแข่งขันกับโรงเรียนเอกชนที่มีทรัพยากรและความพร้อมที่ดีกว่าทำให้โรงเรียนของรัฐต้องปรับตัวสร้างการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ เพื่อตอบสนองความคาดหวังของผู้ปกครองและสังคม
ผู้บริหารโรงเรียนต้องรับมือกับความกดดันจากทุกทิศทาง นโยบายการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงบ่อยและมีระบบงบประมาณ ซึ่งไม่สามารถสร้างมาตรฐานและคุณภาพที่ควรจะเป็น ทำให้ต้องจัดการทรัพยากรอย่างจำกัด ขณะเดียวกันยังต้องสนับสนุนครู พัฒนานักเรียน ตอบสนองความคาดหวังของผู้ปกครอง และการขาดระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ทั้งหมดนี้ยิ่งเป็นปัจจัยเพิ่มความท้าทายในการทำงานของผู้บริหารโรงเรียน
สำหรับครูผู้สอน การสอนยังต้องพึ่งพาวิธีดั้งเดิม เนื่องจากการขาดทักษะและเทคนิคที่เหมาะสม รวมถึงทรัพยากรการสอนที่ทันสมัย (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา, 2562) ภาระงานเอกสารจำนวนมากแย่งเวลาในการเตรียมการสอน ขณะที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีกลายเป็นทั้งโอกาสและอุปสรรค ครูบางกลุ่มมองว่าการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพิ่มภาระมากกว่าจะเป็นเครื่องมือช่วยสอน
ผู้ปกครองมีบทบาทสำคัญในระบบการศึกษา แต่ยังขาดการมีส่วนร่วมมากพอ หลายคนรู้สึกไม่มั่นใจในความสามารถของตนเองที่จะสนับสนุนการเรียนรู้ของลูก เนื่องจากไม่เข้าใจวิธีการสอนแบบใหม่ (กนกวรรณ สุภาราญ, 2564) การสื่อสารระหว่างโรงเรียนกับผู้ปกครองยังไม่ครอบคลุมและต่อเนื่อง ขณะที่ความคาดหวังที่สูงขึ้นจากโรงเรียนก็สร้างความกดดันให้ผู้ปกครองเอง
ในมุมของนักเรียน การเรียนในระบบปัจจุบันไม่สามารถตอบสนองความต้องการ หลักสูตรที่เน้นวิชาการมากกว่าทักษะชีวิต ทำให้นักเรียนหลายคนขาดแรงจูงใจ ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กในพื้นที่ห่างไกลยังคงตกต่ำเนื่องจากการขาดแคลนทรัพยากร (สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภาภรณ์, 2563) เช่น เครื่องมือดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ประจำตัวผู้เรียน ความเครียดจากการสอบและระบบวัดผลที่เน้นการแข่งขันยิ่งทำให้ผู้เรียนถูกกดดันและหมดความสนุกในการเรียนรู้
ระบบการศึกษาของไทยจึงอยู่ในจุดที่ต้องเร่งปรับตัว จัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย พัฒนาทักษะครู สร้างความร่วมมือระหว่างโรงเรียน ชุมชนและผู้ปกครอง รวมถึงการปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับทักษะที่จำเป็นของศตวรรษที่ 21 การสร้างโอกาสในการเรียนรู้ที่เท่าเทียมกัน ลดความเหลื่อมล้ำ
แนวทางก้าวข้ามข้อจำกัด (Key Guidelines)
สำหรับโรงเรียน: เพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมการศึกษา และมีนโยบายที่สนับสนุนกระบวนการทำงานของทุกฝ่ายในโรงเรียน
สำหรับผู้บริหาร: สร้างภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Transformational Leadership) และมุ่งมั่นในการดำเนินนโยบายทุกข้อที่สนับสนุนภารกิจนี้
สำหรับครู: พัฒนาทักษะครู มุ่งใช้เทคโนโลยี (Tech) สอน (Teach) อบรม (Train) ลดภาระงานที่ไม่เกี่ยวกับการสอน
สำหรับผู้ปกครอง: เข้าใจบทบาทครอบครัว พัฒนาการสื่อสารกับโรงเรียน และเสริมความรู้ในการสนับสนุนลูก
สำหรับนักเรียน: พัฒนาวิธีการเรียน (Learn) สร้างประสบการณ์ (Experience) ฝึกฝน (Practice) มุ่งเน้น “การเตรียมเรียน” (Pre-Class)
สำหรับการพัฒนาคนตลอดทุกช่วงชีวิต: พัฒนาคนอย่างเป็นระบบ ไม่ขาดตอน ผ่าน “แพลตฟอร์มวางแผนชีวิต” (Life Planning Platform-LPP) (อายุ 0 ถึง 60+), จัดตั้งเครือข่าย "อาสาสมัครพัฒนาคนและครอบครัว (อพค.) ทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมและติดตามการพัฒนาคนไทยทุกคนตลอดชีวิต, ปรับกระบวนทัศน์ (Paradigm) ในการพัฒนาคนโดยยึดหลักการที่ว่าคนและครอบครัว (Me & Family) คือ หน่วยทางสังคมที่สำคัญและมีค่ามากที่สุดของประเทศ โดยให้ครอบคลุมด้านร่างกาย สมอง และจิตใจ (Health-Knowledge-Mind)

15 ข้อเสนอ ปลุกพลังสู่การยกระดับการศึกษาและคนไทย
วิสัยทัศน์และพลังใหม่แห่งการเปลี่ยนแปลงเพื่อนำไปสู่การยกระดับและเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาและพัฒนาคนด้วย 15 ข้อเสนอเชิงปฏิบัติที่ชัดเจน ครอบคลุมทุกมิติ เพื่อตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาคนของประเทศไทย ในระยะ 5 ปีข้างหน้า
ข้อเสนอที่ 1: ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีของโรงเรียน (School Digital Transformations)
ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีของโรงเรียน โดยติดตั้งอุปกรณ์ดิจิทัล เช่น จอภาพระบบสัมผัสขนาดใหญ่ คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง พร้อมสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ (Makerspace) สำหรับกิจกรรมเชิงปฏิบัติ และสนับสนุนการเรียนรู้ที่เน้นเทคโนโลยี เพิ่มโอกาสเรียนรู้นอกห้องเรียน (Experiential Learning) เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล
ข้อเสนอที่ 2: สร้างโอกาสด้านเครื่องมือประจำตัวในการเข้าถึงสื่อการสอนและสื่อการเรียนรู้
แจกแท็บเล็ตและอุปกรณ์ดิจิทัลให้ครูและนักเรียนทุกคน ภายใน 5 ปี พร้อมติดตั้งอุปกรณ์เสริม เช่น จอภาพระบบสัมผัสขนาดใหญ่ในห้องเรียน เพิ่มบทเรียนดิจิทัลทุกสาระวิชา ทุกระดับไว้ในระบบจัดการทรัพยากรการศึกษา (Learning Management System-LMS) เพื่อการเรียนรู้ที่เข้าถึงได้ทุกที่ อบรมครู 500,000 คน ให้ใช้และสามารถสร้างสื่อการสอนดิจิทัล มีการใช้การเรียนรู้แบบผสมผสาน (Blended Learning) เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละคนอย่างมีประสิทธิภาพ
ข้อเสนอที่ 3: เพิ่มความเป็นผู้นำเชิงนวัตกรรมและการบริหารการเปลี่ยนแปลง (Innovation Leadership & Change Management)
อบรมผู้นำการศึกษา 30,000 คนในหัวข้อการคิดเชิงกลยุทธ์และการใช้เทคโนโลยี ปรับปรุงระบบบริหารจัดการโรงเรียน (School Management System - SMS) และแพลตฟอร์มวิเคราะห์ผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน (Learning Analytics – LA) เพื่อติดตามผลการเรียนและปรับแนวทางสอน ลดภาระงานเอกสารด้วยระบบอัตโนมัติ สนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม เช่น หลักสูตร STEM และการเรียนรู้ด้วย AI หรือ VR พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและองค์กรเทคโนโลยี เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงนวัตกรรมที่ยั่งยืนในโรงเรียน
ข้อเสนอที่ 4: พัฒนาครูโดยใช้เทคโนโลยี (Teaching Tools & Technology)
สนับสนุนให้ครูทุกคน เข้าถึงซอฟต์แวร์เฉพาะทางและมีอุปกรณ์ประจำตัว เช่น แล็ปท็อปและแท็บเล็ต เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการสอนที่ทันสมัย พร้อมนำระบบ LMS มาช่วยวางแผนการสอน สนับสนุนการจัดการเรียนการสอน ติดตามและประเมินผลการเรียนของผู้เรียนรายคน ลดภาระงานเอกสารด้วยระบบอัตโนมัติ เพิ่มเวลาให้ครูมุ่งเน้นการพัฒนาการสอนและดูแลนักเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อเสนอที่ 5: พัฒนาการสอนของครู (Teaching Development)
สร้างคลังสื่อและทรัพยากรการสอนออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อให้ครูสามารถเข้าถึงสื่อการสอนที่หลากหลาย เช่น สื่อ 3D/VR หรือ Metaverse วิดีโอการสอน คลังภาพ เสียง หนังสือเรียนอิเล็กทรอนิสก์ เอกสารประกอบการเรียน และแผนการสอนสำเร็จรูป จัดหาอุปกรณ์และสื่อการสอนที่ทันสมัย ร่วมมือกับหน่วยงานด้านการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน ยกระดับคุณภาพการสอนด้วยเทคนิคใหม่ เช่น Active Learning ผสมผสานการเรียนรู้ผ่านสื่อดิจิทัล เพื่อเพิ่มความน่าสนใจและประสิทธิภาพในการเรียนรู้ของนักเรียนในทุกระดับ
ข้อเสนอที่ 6: การอบรมครูอย่างต่อเนื่อง (Professional Development Training)
จัดโปรแกรมอบรมครูไม่น้อยกว่า 500 หลักสูตรภายใน 5 ปี ครอบคลุมหัวข้อสำคัญ เช่น Problem-Based Learning (PBL), Design Thinking และจิตวิทยาการศึกษา ฯลฯ พร้อมพัฒนาทักษะดิจิทัล เช่น การสร้างสื่อการสอนออนไลน์และการใช้ AI ในการเรียนการสอน เสริมด้วยระบบ Mentorship เพื่อสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างครูรุ่นใหม่และครูผู้มีประสบการณ์ โดยตั้งเป้าพัฒนาความเชี่ยวชาญของครูอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มคุณภาพการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนในยุคดิจิทัล

ข้อเสนอที่ 7: พัฒนาแพลตฟอร์มฐานข้อมูลรวมศูนย์และการสื่อสาร (Centralized Educational Data & Communication Platform)
พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างครู นักเรียน และผู้ปกครอง เพื่อส่งเสริมการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส ระบบนี้ช่วยติดตามผลการเรียนและพัฒนาทักษะของนักเรียน รวมถึงอำนวยความสะดวกในการสื่อสารข้อมูลสำคัญ เช่น การแจ้งเตือน การติดตามความคืบหน้า และข้อเสนอแนะ ช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองในการสนับสนุนการเรียนรู้ และสร้างความร่วมมือที่แข็งแกร่งระหว่างบ้านและโรงเรียน (Student-Parent-Teacher Collaboration)
ข้อเสนอที่ 8: ส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียน (Learning Experience)
จัดตั้งห้องสมุดดิจิทัลและแพลตฟอร์มการเรียนรู้ในโรงเรียน เพื่อเพิ่มโอกาสเรียนรู้นอกห้องเรียน พร้อมสื่อทันสมัย เช่น โมเดล 3D, VR, AR, Interactive Book และวิดีโอการสอน ส่งเสริมให้นักเรียนเตรียมตัวเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านคลังข้อมูลที่ครบครัน เช่น สรุปบทเรียน คลังข้อสอบ และกิจกรรมเสริมทักษะต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการเรียนรู้เชิงโต้ตอบผ่านบทเรียนที่ใช้เทคโนโลยี Interactive Board และแท็บเล็ต เพื่อยกระดับการเรียนรู้ให้สนุก ทันสมัย และช่วยพัฒนาทักษะรอบด้านของผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง

ข้อเสนอที่ 9: การเรียนรู้เชิงประสบการณ์และเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Experience & Life Long Learning)
ส่งเสริมการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงทฤษฎีกับการปฏิบัติในโรงเรียน ผ่านหลักสูตร Project-Based Learning และกิจกรรมศึกษานอกสถานที่ เพิ่มโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง เช่น การทดลอง โครงงาน และการแก้ปัญหาในสถานการณ์จริง การเยี่ยมชมสถานประกอบการหรือโรงงาน พร้อมสร้างแพลตฟอร์ม Microlearning สำหรับการเรียนรู้ระยะสั้นที่เข้าถึงง่าย พัฒนาแนวทาง Life-Long Learning (LLL) ที่เน้นการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้
เรียนรู้ ผ่านหลักสูตรเสริม อบรมทักษะใหม่ และกิจกรรมพัฒนาทักษะการใช้ชีวิตจริง เช่น การจัดการการเงินและการใช้เทคโนโลยี การเป็นผู้ประกอบการ
ทดสอบและประเมินผล ผ่านระบบที่ช่วยให้ผู้เรียนทราบระดับความสามารถและพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่อง
เก็บผลงาน (Portfolio) ในรูปแบบดิจิทัลเพื่อบันทึกความก้าวหน้า ทักษะ และความสำเร็จในการเรียนรู้ที่สามารถนำไปใช้สมัครงานหรือศึกษาต่อ
ฝึกงานร่วมกับสถานประกอบการ เพื่อเตรียมความพร้อมให้ผู้เรียนสู่โลกการทำงานและเสริมทักษะการเรียนรู้ที่นำไปใช้งานได้จริง
การเรียนรู้เชิงประสบการณ์และตลอดชีวิต จะช่วยให้การศึกษาสอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 และส่งเสริมการเรียนรู้ที่ต่อเนื่องตลอดชีวิต
ข้อเสนอที่ 10: พัฒนาผู้เรียนผ่านการฝึกฝน (Practical Learning)
จัดตั้งแพลตฟอร์มออนไลน์แห่งชาติ สำหรับการเรียนรู้ ฝึกทำตะลุยโจทย์ ทำแบบข้อสอบผ่านระบบด้วยตนเอง รองรับผู้เรียนอย่างน้อย 2 ล้านคน พร้อมระบบ AI วิเคราะห์จุดแข็ง-จุดอ่อนรายบุคคล ช่วยเสริมสร้างความเข้าใจในเนื้อหาเชิงลึกและการแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดแรงกดดันจากการเรียนเพื่อคะแนน และเพิ่มแรงจูงใจในการเรียนรู้ แพลตฟอร์มนี้จะรวมศูนย์ทรัพยากร การเรียนรู้ เช่น แบบฝึกหัด คลังข้อสอบ และกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยเกม (Gamified Learning) เพื่อสร้างประสบการณ์การเรียนรู้นอกห้องเรียนที่สนุกสนาน พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้เรียนฝึกฝนความรู้ที่ได้เรียนมาเพื่อนำไปใช้จริง
ข้อเสนอที่ 11: ส่งเสริมการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ (English Language Skill Development)
จัดการเรียนการสอนแบบสองภาษาและกิจกรรม English Day นำร่องในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯพร้อมนำเทคโนโลยี เช่น แอปพลิเคชันและ AI มาใช้ช่วยพัฒนาทักษะการฟัง พูด อ่าน และเขียน ส่งเสริมการฝึกภาษาอังกฤษผ่านกิจกรรมสนทนากับครูทักษะสูง และการเชื่อมโยงการเรียนรู้กับชีวิตประจำวัน เช่น เพลง และภาพยนตร์ภาษาอังกฤษ พร้อมจัดสอบวัดผลมาตรฐานทักษะเพื่อประเมินและวางแผนพัฒนาผู้เรียนอย่างต่อเนื่องทุกคน เข้าถึงง่าย มีค่าใช้จ่ายต่ำ

ข้อเสนอที่ 12: พัฒนาทักษะแห่งอนาคต (Future Skill Development)
จัดสร้างหลักสูตรที่จำเป็นเพื่อตอบสนองทักษะที่โลกคาดหวัง เช่น ทักษะด้าน 3D Maker, Coding, AI และ Data Analysis ในโรงเรียน พร้อมจัดเวิร์กช็อปและโปรแกรมฝึกอบรมทักษะใหม่เพื่อเตรียมความพร้อมให้นักเรียน โดยเน้นการพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยี และ Soft Skills เช่น การทำงานร่วมกับผู้อื่น การคิดเชิงสร้างสรรค์ และการจัดการอารมณ์ ฯลฯ ส่งเสริมการเรียนรู้เชิงประสบการณ์ผ่านโครงการแก้ปัญหาจริง (Problem-Based Learning) และกิจกรรม Experiential Learning เพื่อเชื่อมโยงความรู้ในห้องเรียนกับการปฏิบัติจริง ช่วยให้นักเรียนสามารถปรับตัวและพัฒนาทักษะได้อย่างต่อเนื่อง
ข้อเสนอที่ 13: การพัฒนาคนอย่างเป็นระบบ ด้วยเครือข่ายอาสาสมัครพัฒนาคนและครอบครัว (อพค.)
มุ่งเน้นการพัฒนาคนอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่เกิดจนแก่ โดยใช้กลไก อาสาสมัครพัฒนาคนและครอบครัว (อพค.) ประจำหมู่บ้าน ซึ่งจะทำหน้าที่เป็น "ครูของชุมชน" คอยให้ความรู้ คำแนะนำ และแนวทางในการพัฒนาการศึกษา การเรียนรู้ พัฒนาตนเอง วางแผนการงานอาชีพ การเงิน และการใช้ชีวิตในทุกช่วงวัย เพื่อสร้างคนที่มีคุณภาพ อยู่ในสังคมแห่งการเรียนรู้และมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยอพค. มีบทบาทสำคัญ คือ
1) เป็นที่ปรึกษาด้านการศึกษาและการใช้ชีวิต ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเรียน การพัฒนาทักษะ และแนวทางการดำเนินชีวิต
2) สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life-Long Learning) ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ตั้งแต่วัยเด็กเล็กจนถึงวัยผู้สูงอายุ เช่น ปฐมวัย: ให้ความรู้แก่พ่อแม่ด้านการเลี้ยงดูและพัฒนาการ วัยเรียน: สนับสนุนและแนะแนวทางการเรียนรู้ที่เหมาะสม วัยทำงาน: พัฒนาทักษะสำคัญ แนะแนวอาชีพใหม่ และพัฒนาการงานอาชีพ ผู้สูงอายุ: ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต การมีส่วนร่วมในสังคมเพื่อสร้างความสุข
3) พัฒนาครอบครัวและชุมชน ช่วยให้ครอบครัวมีความรู้และทักษะในการเลี้ยงลูก การส่งเสริมและพัฒนาความสัมพันธ์ในครอบครัว ส่งเสริมคุณภาพชีวิต การมีส่วนร่วมกับชุมชนในทางสร้างสรรค์
4) ประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน นำทรัพยากรการเรียนรู้มาสู่ชุมชนและกลุ่มเป้าหมาย

ผลลัพธ์จากการมีอาสาสมัครพัฒนาคนและครอบครัว (อพค.)
1) มีหมู่บ้านต้นแบบในการพัฒนาคน ที่สามารถขยายผลสร้างเครือข่ายไปยังระดับตำบล อำเภอ และจังหวัดทั่วประเทศ ครอบคลุมทุกครอบครัวและทุกคน
2) ชุมชนมีที่ปรึกษาทางการศึกษา การเรียนรู้ การดำเนินชีวิตและสร้างคุณธรรม
3) การศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงและต่อเนื่องตลอดชีวิต ไม่จำกัดแค่ในโรงเรียน เกิดผลลัพธ์ในคนและครอบครัวที่มีคุณภาพครบทั้ง 3 มิติ (Health-Knowledge-Mind ) อย่างแท้จริง
4) ลดปัญหาสังคม ลดความเสี่ยง เพิ่มความสำเร็จ สร้างสังคมคุณภาพ ผ่านการให้คำแนะนำและการกำกับดูแลระดับบุคคลและครอบครัว
5) ใช้เทคโนโลยีและแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของ อพค.สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายทุกคน ด้วยองค์ความรู้ และทรัพยากรด้านการพัฒนาอย่างครบครัน
ข้อเสนอที่ 14: แพลตฟอร์มวางแผนชีวิตเพื่อการพัฒนาคนตลอดทุกช่วงอายุ (Life Planning Platform -LPP)
พัฒนาแพลตฟอร์มวางแผนชีวิต ที่ช่วยกำหนดเป้าหมายและวางแผนการพัฒนาตนเองในทุกช่วงวัย ตั้งแต่เกิดจนแก่ โดยประชากรทุกคนจะได้รับ LPP ID และเข้าสู่วิทยาลัยออนไลน์ตลอดชีวิต ด้วยการผสานแนวคิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life-Long Learning - LLL) เพื่อให้สามารถวางแผนและติดตามพัฒนาการส่วนบุคคล ทุกระยะ เช่น การตั้งเป้าหมายชีวิต การศึกษา อาชีพ สุขภาพกายและใจ รวมถึงการพัฒนาทักษะทุกด้าน สามารถประเมินศักยภาพตนเองและแนะนำเส้นทางการพัฒนาต่อยอดในทุกด้านของชีวิต โดยใช้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่และระบบ AI ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อแนะนำแผนการพัฒนาตนเอง การเรียน การอบรมเพิ่มเติม ช่วยเลือกหลักสูตรและพัฒนาทักษะ เพิ่มความขีดความสามารถ วิเคราะห์โอกาสและอุปสรรครายบุคคล ฯลฯ และยังมีระบบบันทึกและจัดเก็บ Portfolio ติดตามความก้าวหน้าทางการเรียนรู้ ประสบการณ์ทำงานและทักษะที่ได้รับ เชื่อมโยงเครือข่ายที่ปรึกษาด้านอาชีพ

ข้อเสนอที่ 15: ปรับกระบวนทัศน์ (Paradigm Shift) การพัฒนาคนให้ครอบคลุม ร่างกาย สมอง และจิตใจ (Health-Knowledge-Mind )
การพัฒนาคนต้องพัฒนาแบบองค์รวมที่ครอบคลุมทั้ง ร่างกาย สมอง และจิตใจ เพื่อสร้างสมดุลระหว่างสุขภาพ ความรู้ และคุณธรรม นำไปสู่การเติบโตที่สมบูรณ์แบบและมีคุณภาพ เกิดความสำเร็จอย่างแท้จริงในประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ (Real Success Nation) โดยมีเป้าหมายสำคัญใน 3 มิติ
ร่างกาย (Health) – มุ่งเสริมสร้างสุขภาพที่ดี ผ่านโภชนาการ การออกกำลังกาย และพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม เพื่อลดปัญหาทางสุขภาพและเพิ่มคุณภาพชีวิต
สมอง (Knowledge) – เน้นพัฒนาการศึกษา การเรียนรู้ตลอดชีวิต พัฒนาทักษะ และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของทรัพยากรมนุษย์
จิตใจ (Mind) – ปลูกฝังค่านิยม คุณธรรม และจิตอาสา สร้างความมีวินัย ความรับผิดชอบ และความเป็นพลเมืองที่ดี มีจิตใจที่เข้มแข็ง มีคุณลักษณะพื้นฐานของการเป็นบุคคลที่มีคุณภาพและประสบความสำเร็จ
โดยวางแผนพัฒนาระยะสั้น (3-5 ปี) และระยะยาว (10 ปีขึ้นไป) มีตัวชี้วัดความสำเร็จ (KPI) เช่น ระดับสุขภาพประชาชน ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา และพฤติกรรมทางสังคมที่ดี โดยใช้เทคโนโลยีและแพลตฟอร์มสนับสนุน เพื่อติดตามผลและปรับปรุงแนวทางการพัฒนารายบุคคล เพื่อให้ประเทศมีทรัพยากรมนุษย์ที่พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของโลก

แนวคิดทั้ง 15 ข้อเสนอนี้ บางเรื่องเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องใหม่ และท้าทายว่าจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงของระบบการศึกษาและการพัฒนาคน พัฒนาครอบครัวได้มากน้อยเพียงใด หากระบบการศึกษายังคงอยู่กับปัญหาอุปสรรคและกรอบความคิดในการพัฒนาแบบเดิม ก็จะเป็นการปิดกั้นโอกาสในการสร้างความก้าวหน้าในการพัฒนา การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงไม่อาจเกิดขึ้นได้เพียงแค่การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพหรือเทคโนโลยี แต่ต้องทำพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงแนวคิด วิธีการ และการพัฒนาคนในทุกมิติ ด้วยการบริหารจัดการในหน่วยที่เล็กที่สุดก่อน คือ บุคคลและครอบครัว (Micro - Level) อย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความสำเร็จที่วัดผลได้ ซึ่งจะนำไปสู่ผลสำเร็จที่ใหญ่ขึ้นเป็นลำดับชั้น ได้แก่ ชุมชน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ได้ในที่สุด (Macro-Level)
การศึกษาและการพัฒนาคน คือ หัวใจของการพัฒนาชาติ “คน” คือ ทรัพย์สินที่มีค่ามากที่สุดของประเทศ จึงต้องสร้างโอกาสให้ทุกคนได้เรียนรู้ ได้รับการพัฒนาอย่างดีที่สุดในทุกช่วงวัย เมื่อคนมีคุณภาพ ประเทศก็ประสบความสำเร็จ แนวทางสู่การเปลี่ยนแปลง คือ "ทำจากเล็กไปใหญ่" จากบุคคลสู่ครอบครัว โรงเรียน และสังคม ด้วยเครื่องมือ เทคโนโลยี ให้เกิดโอกาสที่เท่าเทียม ความเท่าเทียมที่ง่าย มีค่าใช้จ่ายต่ำและคุ้มค่าที่สุด คือ “ดิจิทัล” โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจนให้เกิดระบบการศึกษาซึ่งสามารถพัฒนาและสร้างคนให้มีความรู้ มีทักษะและจิตใจดี ที่พร้อมรับมือกับโลกยุคใหม่ให้เกิดขึ้นได้จริง คุ้มค่ากับการลงทุน
ตลอด 29 ปีที่ผ่านมา บริษัท เจเนซิส มีเดียคอม จำกัด มุ่งมั่นสร้างสรรค์เทคโนโลยีและโซลูชันเพื่อการศึกษา เพราะเราเชื่อว่า ทุกการเปลี่ยนแปลงจะดีขึ้นและเริ่มต้นอย่างเร็วที่สุดให้ทันการณ์ และไม่มีการลงทุนใดที่จะคุ้มค่ามากกว่าการลงทุนในคน ถ้าเราต้องการปลุกพลังคน พลิกโฉมประเทศ เราต้องเริ่มต้นที่การศึกษาและการพัฒนาคน และต้องลงมือทำตั้งแต่วันนี้
_________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________
อ้างอิงจาก:
สุรันต์ อินทะปัญโญ. (31 ก.ค. 2562). โรงเรียนในฝัน. สืบค้นจาก https://sesa.obec.go.th/index.php?name=project&file=detail&id=4472
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ. (2562). รูปแบบการระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษา. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ บริษัท พริกหวานกราฟฟิค จำกัด.
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภาภรณ์. (18 มีนาคม 2563). มองผลสัมฤทธิ์และความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาผ่านการประเมินผล PISA ของประเทศไทย. สืบค้นจาก https://www.pier.or.th/abridged/2020/05/?utm_source=chatgpt.com#%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B8%87
กนกวรรณ สุภาราญ. (2564). วิกฤติการณ์สะท้อนปัญหา...เมื่อระบบการศึกษาต้องการความร่วมมือจากครอบครัว. สืบค้นจาก https://www.educathai.com/knowledge/articles/384
Comments